กว่าจะมาเป็น....เจดีย์เจดีย์ชเวดากอง



หลังจากที่เราชมความงามโดยรอบ เจดีย์ชเวดากอง ไปแล้วจากบทความก่อนๆ และด้วยความสวยงามที่หาที่ติไม่ได้ของเจดีย์ที่เหลืองอร่ามแห่งนี้ ที่นี่เขาก็มีตำนานเล่าขานถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กันด้วยนะครับ

สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว  ไม่ว่าจะเป็นที่สวยงามที่ไหนก็ตามแต่ ย่อมมีประวัติความเป็นมากันแทบทุกที่นั่นแหละครับ อยู่ที่ว่านักเที่ยวอย่างเราๆท่านๆนั้นจะสนใจกันบ้างหรือเปล่าเท่านั้นเอง  แต่สำหรับเที่ยวพม่าครั้งนี้ ไปชมของดีของประเทศเพื่อนบ้านกันแล้ว  เราก็ไม่พลาดเรื่องของประวัติความเป็นมาของสถานที่เหล่านั้นอย่างเด็ดขาดครับ


ตามตำนาน ที่ทางการพม่าให้ข้อมูลว่า พระเจดีย์ชเวดากองแห่งนี้นั้น ได้เริ่มสร้างเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ 2,595 ปีมาแล้ว ในสมัยที่ย่างกุ้งยังเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าเมืองอสิตันชนะหรืออีกชื่อหนึ่งคือเมืองโอกกะละ นั่นเองครับ โดยมีพ่อค้าชาวมอญ 2 คนชื่อว่าตผุสสะและภัลลิกะได้เดินทางไปค้าขายยังประเทศอินเดีย ทั้งสองได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งกำลังประทับอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และได้ถวายภัตตาหารแด่พระองค์ด้วย

หลังจากเสวยเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาให้ 8 เส้น เมื่อตผุสสะและภัลลิกะเดินทางกลับ พระราชา         แห่งอเชตตะได้ขอแบ่งพระเกศธาตุไป 2 เส้น พญานาคขอไปอีก 2 เส้น เมื่อเดินทางกลับถึงเมืองอสิตันชนะ พระเจ้าโอกกะละปะก็ได้ทรงประกอบพิธีต้อนรับพระเกศธาตุอย่างยิ่งใหญ่ และได้ทรง คัดเลือกสถานที่บนเขาสิงฆุตตระนอกประตูเมืองอสิตันชนะให้เป็นที่สร้างพระ เจดีย์เพื่อบรรจุพระเกศธาตุนั่นเอง


แต่ขณะที่กำลังทำการขุดดินก่อสร้างนั้น ก็ได้ค้นพบ พระบริโภคเจดีย์ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆอีก 3 พระองค์ด้วย คือไม้ธารพระกร ภาชนะสำหรับใส่น้ำ และสบง จึงได้บรรจุของทั้งหมดนี้ในพระเจดีย์พร้อมกับพระเกศธาตุด้วย แต่ก่อนที่จะบรรจุ ก็ค้นพบด้วยว่า พระเกศธาตุกลับมี 8 เส้นดังเดิม พระเกศธาตุได้บรรจุไว้ภายในเจดีย์ทอง เงิน ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว หินอ่อน และเหล็กตามลำดับ เสร็จแล้วจึงสร้างเจดีย์อิฐสูงประมาณ 66 ฟุตครอบไว้ภายนอก

จากนั้นก็มีการสร้างเจดีย์ครอบองค์เดิมในรัชสมัยของกษัตริย์ต่าง ๆ รวมถึง 7 ครั้งด้วยกัน เจดีย์ชเวดากอง พม่าโดย ในสมัยพระนางเชงสอบูแห่งกรุงหงสาวดีก็ได้ทรงบริจาคทองคำถึง 40 กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับน้ำหนักของพระองค์   ในการก่อสร้างพระเจดีย์ที่มีรูปร่างเหมือนใน ปัจจุบันเป็นครั้งแรก ส่วนพระเจ้าธรรมเจดีย์ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระนางเชงสอบู ก็ได้บริจาคทองในการก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของพระองค์ และพระมเหสีรวมกันด้วย ทั้งยังได้ทรงสร้างจารึกเล่าประวัติของพระเจดีย์ชเวดากองเป็นภาษาพม่า มอญและบาลีไว้อีกด้วย นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่มากๆครับ



ปัจจุบันพระเจดีย์มีความสูง 326 ฟุต เส้นรอบวง 1,420 ฟุต สูงกว่าระดับน้ำทะเล 190 ฟุต ประดับด้วยแผ่นทองคำ 4 หมื่นแผ่น รวมน้ำหนักทอง 8 ตัน สำหรับฉัตรซึ่งครอบยอดเจดีย์ ก็มีการซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่มาเป็นระยะๆ ฉัตรเก่าสร้างในสมัยพระเจ้ามินดง ในปี ค.ศ. 1871 สูง 33 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 ฟุต ขณะนี้ก็ยังตั้งไว้ให้ประชาชนได้ชมอยู่ ครั้งล่าสุดได้มีการสร้างฉัตรขึ้นใหม่เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยประดับเพชรพลอยรวมถึง 4,351 เม็ดรวม น้ำหนัก 2,000 กะรัต เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดบนยอดฉัตรมีฐานกว้าง 2 ฟุต ยาว 1 ฟุต 10 นิ้ว และหนัก 76 กะรัต นอกจากนี้ พระเจดีย์ชเวดากองก็ยังมีวัตถุที่มีคุณค่าทางศาสนา ศิลปะ ประวัติศาสตร์และอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ระฆังที่พระเจ้าสิงคุทรงสร้างไว้ (Singhu)

ทรงสร้างไว้เมื่อปีค.ศ. 1778 หล่อด้วยปัญจโลหะ คือทอง เงิน ทองแดง ตะกั่วและสังกะสี สูง 8 ฟุต หนัก 23 ตัน ในปี ค.ศ. 1824 พม่าได้ทำสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งแรกและอังกฤษได้ยึดเจดีย์ชเวดากองได้และ ได้ขนทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองไปหลายอย่าง รวมทั้งได้คิดที่จะขนย้ายระฆังใบนี้กลับไปอังกฤษด้วย แต่ระหว่างการเดินทางเรือที่ขนระฆังจมลงที่แม่น้ำย่างกุ้ง ต่อมาพม่าจึงทำการกู้ระฆังใบนี้ด้วยตนเองและนำมาติดตั้งไว้ที่เจดีย์ชเวดา กองได้เช่นเดิม ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของประชาชนพม่าโดยทั่วไปมาจนทุกวันนี้ครับ

นอกจากนั้นก็ยังมีพระพุทธรูปสลักจากหยกทั้งก้อน ซึ่งได้มาจากรัฐคะฉิ่นในปีค.ศ. 1999 ในโอกาสที่ได้สร้างฉัตรใหม่ และยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งได้นำเมล็ดมาปลูกจากพุทธคยาเมื่อ 79 ปีก่อน และของมีค่าอื่น ๆ อีกมากมายครับ



จากประวัติศาสตร์ที่แสนยาวนาน จนมาถึงปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่ากว่าจะมาเป็นเจดีย์ที่สวยงาม และไม่ได้สวยเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แถมยังเต็มไปด้วยพลังศรัทธาทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปรี่ยมอีกด้วย ทำให้กลายมาเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพม่าทุกคน รวมถึงนักแสวงบุญชาวพุทธที่เดินทางมาเยือนที่เจดีย์ชเวดากองแห่งนี้  ที่นี่จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตสำหรับนักเดินทางทั่วสารทิศที่เดินทางมาเพื่อชมความงามของเจดีย์ชเวดากองแห่งนี่นั่นเองครับ


ขอบคุณข้อมูลความรู้ประวัติเจดีย์ชเวดากองจาก kammatan.com ครับ

0 ความคิดเห็น:

LIKE US ON FACEBOOK